ผมเชื่อว่าหลายปีมานี้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกันแล้วว่าในช่วงปลายเดือนมกราคมจะมีงานใหญ่ของ World Economic Forum ซึ่งก็คือการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลกจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (World Economic Forum Annual Meeting) ต่อจากนี้ ผมอยากให้ทุกคนจำเพิ่มอีกว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี จะมีอีกการประชุมที่สำคัญไม่แพ้กันจัดขึ้นในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำของโลกตะวันออก (World Economic Forum Annual Meeting of the New Champions) เป็นการประชุมที่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่จากทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก
เช่นเดียวกันในปีนี้ที่ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วม World Economic Forum: 15th Annual Meeting of the New Champions หรือ Summer Davos 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 25 - 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นเมืองที่มีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาค งาน Summer Davos ที่จัดขึ้นในประเทศจีนจะมีความพิเศษตรงที่เจ้าภาพจัดงานจะสลับกันไปมา ระหว่างเมืองต้าเหลียน (Dalian) และเมืองเทียนจิน (Tianjin) ในแต่ละปี สำหรับงานในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองต้าเหลียนมีผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน โดยธีมของปีนี้คือ "Next Frontiers for Growth: พรมแดนใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโต”
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ภายในงานเน้นย้ำให้เห็นว่านวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ในปัจจุบันเราได้พัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียุคก่อนจนหมดแล้ว เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อีก เพราะตลาดเกิดการแข่งขันกันถึงจุดที่ทุกฝ่ายต่างตัดราคาแข่งกันจนกลายเป็น Red Ocean และเพื่อให้โลกได้ขับเคลื่อนต่อไป เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ในการขับเคลื่อนโลก ตัวอย่างเทคโนโลยีเหล่านั้น เช่น AI, Big Data, 3D Printing, IoT, AR, VR และ Blockchain เป็นต้น นอกจากจะได้เข้าร่วมงานแล้ว ผมยังได้รับเกียรติในฐานะตัวแทนของนักธุรกิจคนไทยเข้าพบ Professor Klaus Schwab (ศาสตราจารย์เคลาส์ ชวาบ) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ World Economic Forum เพื่อร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยและอาเซียน อนาคตของตลาดหลักทรัพย์ การเงิน และการ Tokenization นับเป็นโอกาสพิเศษที่ได้เข้าพบและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเป็นส่วนตัวกับผู้ที่ถือเป็น Think Tank คนสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยใน Summer Davos ปีนี้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึง 3 เวที ได้แก่
Transforming Talent: A Blueprint for Reskilling and Job Creation เพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมต่อทักษะอาชีพใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-economics), ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Advancement), และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition)
Decoding E-Commerce Payments ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากการชำระเงินต่าง ๆ เช่น การป้องกันการฉ้อโกงและการฟอกเงิน กฎระเบียบในแต่ละประเทศ รวมถึงการร่วมมือกัน เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติตามกฎได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็น Collective Action หรือแนวร่วมระหว่างภาคเอกชน ประชาชน และภาครัฐ ในการสร้างมาตรฐานปฏิบัติของแต่ละอุตสาหกรรม
Unlocking the Full Potential for ASEAN’s Digital Economy เตรียมความพร้อมสู่ข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ซึ่งเป็นข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลกที่อยู่ระหว่างการเจรจาในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งหากกรอบความร่วมมือนี้สำเร็จ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะเติบโตจาก 3 แสนล้านดอลลาร์เป็นเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 จากสิ่งที่จะเกิดขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ เสรีภาพในการชำระเงิน (Payment Connectivity: Free Flow of Payments), เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ (Asean Single Window: Free Flow of Goods and Services , และเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายผู้คน (Talent mobility: Freeflow of People)
Regionalization กลับเข้ามาเป็นเทรนด์หลักการค้าโลก
หลายคนคุ้นเคยกับคำว่าโลกาภิวัฒน์ (Globalization) แต่ปัจจุบันโลกกำลังปรับเปลี่ยนกลับไปเป็นการค้าระดับภูมิภาค (Regionalization) ซึ่งการรวมกลุ่มกันภายใน ASEAN จะทำให้เรามีอำนาจต่อรองบนเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น ถ้าเรารวมกลุ่มกันเป็น One ASEAN Strong ภูมิภาคอาเซียนจะมีจำนวนประชากรถึง 600 ล้านคน ในแง่ของจำนวนประชากรเป็นรองเพียงประเทศจีนและอินเดีย และภูมิภาคอาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก จะเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศขนาดเล็ก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และลดการพึ่งพามหาอำนาจ สร้างความร่วมมือสู่ความก้าวหน้าในยุคที่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนที่ยังคงมีอิทธิพลสูงต่อเศรษฐกิจโลก
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการศึกษาเรียนรู้จากมุมมองของประเทศจีน ที่มองว่ารากฐานต้องแข็งแรงก่อน (Keep the roots healthy) ผ่านการเร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน เมื่อรากฐานแข็งแรงแล้วจากนั้นจึงมองขั้นตอนต่อไป ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1) Digital Revolution เนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2) Green Development ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่าน net-zero พัฒนาเทคโนโลยีที่เปนมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3) Open Cooperation ส่งเสริมการแข่งขันและเปิดรับความร่วมมือจากทุกคนทั้งในและระหว่างประเทศ 4) Inclusive Growth เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยยึดหลักไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สิ่งที่เวทีนี้ขับเคลื่อนมาตลอดล้วนเป็นวาระ ทิศทาง ตลอดจนถึงนโยบายและแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่จะมีบทบาทส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก ผมจึงเน้นย้ำมาตลอดว่าเนื้อหาภายในงานล้วนหารือกันในเรื่องที่คนไทยต้องรู้ รวมถึงการที่เราต้องเรียนรู้จากนานาประเทศในการจัดการกับวิกฤตต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางที่เราจะเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะการที่ประเทศไทยจะเติบโตและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้นั้นจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผมจะช่วยเป็นกระบอกเสียงได้ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
Comments