จากโอกาสที่เคยได้รับ สู่การเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทย
เป็นอีกครั้งที่ผมได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : 14th Annual Meeting of the New Champions หรือ WEF : Summer Davos 2023) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27 - 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ไม่ได้จัดมากว่า 4 ปี ภายในการประชุมมีผู้เข้าร่วมงาน 1,500 คน ประกอบด้วยผู้นำจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์การระหว่างประเทศ จากทั้งหมดกว่า 90 ประเทศ การประชุมครั้งนี้มีผู้นำที่มาจากภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประมาณ 20% ซึ่งผมมองว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก หรือก็คือมีคนอีกกว่า 80% มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก
โดยปกติแล้ว การประชุมประจำปี Summer Davos ที่จัดขึ้นที่ประเทศจีนจะมีความแตกต่างจาก Winter Davos ที่จัดขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นปีและผมได้เข้าร่วมไปเมื่อวันที่ 16 - 20 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจะพูดถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน และบุคคลที่เข้าร่วมจะเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่การประชุมนี้จะมีธีมงานคือ The New Champions ซึ่งเป็นการประชุมของผู้นำที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ในแต่ละภาคส่วน หรือเรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนซึ่งจะเป็นที่รู้จักในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าก็ว่าได้ หัวข้อหลักในการเสวนาปีนี้จะพูดถึงผู้ประกอบการยุคใหม่กับพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับตัวแทนผู้นำจากประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ นอกจากบิทคับเองแล้ว ทางผู้จัดงานยังเปิดโอกาสให้บิทคับสามารถชวนพันธมิตรที่ผ่านเงื่อนไขมาเข้าร่วมงานได้ บิทคับจึงได้ประสานกับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยเพื่อเชิญผู้นำจากสตาร์ทอัพชั้นนำสัญชาติไทยเข้าร่วมด้วย 2 ท่านได้แก่ พี่กล้า ซีอีโอของบริษัทไวซ์ไซท์ ผู้นำทางด้านการทำความเข้าใจผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ของประเทศไทย และพี่พอล ซีอีโอของบริษัทเอคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการและขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน เพื่อเป็นทีมผู้นำคนไทยที่ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือร่วมกันถึงมุมมองของอนาคตทางเศรษฐกิจบนเวทีเสวนาครั้งนี้
จากความมุ่งมั่นในพันธกิจ สู่การเป็นกระบอกเสียงบนเวทีระดับโลก
นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ผมและทีมงานบิทคับยังคงมุ่งมั่นในเป้าหมายที่จะทำให้บิทคับเป็นสะพานอันแข็งแรงที่จะเชื่อมผู้คนไปสู่โอกาสในโลกดิจิทัลและเป็นสะพานสู่โลกอนาคต เพื่อเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้ประเทศไทยได้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำในโลกดิจิทัล ผมจึงตั้งใจอย่างมากเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาระดับนานาชาติเช่นนี้ นอกจากที่ผมจะได้เข้าร่วมฟังไอเดียและมุมมองใหม่ ๆ จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านแล้ว เหมือนดังเช่นทุกการประชุมของ WEF ที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นปีที่สองแล้ว ครั้งนี้ผมได้รับเกียรติให้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาถึง 2 หัวข้อ ได้แก่ Education Disrupt-Ed และ Beyond the Hype: Non-Fungible Tokens for Business ซึ่งเป็นเวทีเสวนาถึงอนาคตของการศึกษา และเทคโนโลยี NFTs กับภาคธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว
ในหัวข้อการศึกษา เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทักษะของแรงงานกว่า 44% ของคนบนโลกกำลังจะล้าหลังและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทาง WEF จึงมีการริเริ่มโครงการเรียกว่า Education 4.0 เพื่อเตรียมผู้เรียนตั้งแต่วัยเด็กให้พร้อมกับกับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สำหรับการทำงานและสังคมในอนาคต และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยแกนหลักของแนวคิดประกอบด้วย 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการเป็นพลเมืองโลก ทักษะด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยี และทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และอีก 4 ประสบการณ์ในการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ตามจังหวะของบุคคล การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้และเท่าเทียมถ้วนหน้า การเรียนรู้โดยอิงจากปัญหาและการทำงานร่วมกัน และการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยผู้เรียนเป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจุบันมีโครงการนำร่องกว่า 16 โครงการที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง ผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการแนวปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
ในอีกหัวข้อเสวนา คือเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นมากกว่าแค่กระแสชั่วคราว ในอีกไม่กี่ปีเมตาเวิร์สจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม เช่น กระบวนการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และความบันเทิง ตัวอย่างของการใช้เมตาเวิร์สในอุตสาหกรรมการผลิต คือการจำลองวัตถุเสมือนจริงขึ้นมาเป็นคู่แฝดในรูปแบบดิจิทัล เรียกว่าแฝดดิจิทัล หรือ Digital twin เพื่อปฏิวัติกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์แฝดดิจิทัลได้ว่าจะส่งผลอย่างไรในโลกจริง นอกจากนั้น เมตาเวิร์สยังสามารถใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือไปจากการผลิต เช่น การฝึกแรงงานในสถานการณ์จำลอง การทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การบำรุงรักษาเครื่องจักรจากระยะไกล ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเมตาเวิร์สนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายอย่างประกอบกัน เช่น AI, IoTs, Cloud, หรือแม้แต่ NFTs เป็นต้น
จากการเปลี่ยนแปลง สู่ทิศทางในอนาคตที่ประเทศไทยต้องขึ้นขบวนไปให้ได้
การเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Digital & Green Revolution ที่จะกลายเป็นธีมหลักของทิศทางในอนาคต ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศจีนยังยืนยันว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ จะยังต้องมีร่วมมือทางการค้ากันต่อไป เพราะโลกได้เชื่อมต่อกันอย่างลึกซึ้งจนเกินจุดที่จะสามารถแยกตัวออกจากกันได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การแยกตัวจะเกิดขึ้นในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากสหรัฐฯ ได้กีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด พร้อมกันกับที่จีนกำลังจะรื้อและเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของตนทั้งหมด เพราะตระหนักว่าโลกได้พัฒนามาถึงยุคใหม่ที่เทคโนโลยีหลายอย่างประกอบกันจนถึงจุดที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมได้แล้ว (inflection point) ทำให้เรากำลังเข้าสู่เฟสของการยอมรับในวงกว้างของหลายเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น AI, metaverse, green energy เป็นต้น และด้วยความเปลี่ยนแปลงนี้ประเทศจีนคาดการณ์ว่าประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางของประเทศจะเพิ่มเป็น 800 ล้านคน จากเดิม 400 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มคนจำนวนมากที่มีกำลังซื้อและมีอิทธิพลกับเศรษฐกิจโลกในอนาคต
โดยภาพรวมแล้วโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วมาก กล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของอนาคตในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า 50 ปีในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยโชคดีมากที่อยู่ในภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจอย่างเอเชียแปซิฟิก ที่จะเป็นภูมิภาคที่เม็ดเงินจะไหลกลับเข้ามาจำนวนมากในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผมเชื่อว่าหากเราสามารถจับกระแสทิศทางและขึ้นขบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งนี้ได้ จะสามารถพลิกโฉมกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่พร้อม มีบุคคลากรที่เก่ง จึงต้องอาศัยการสนับสนุนด้านทักษะแรงงานที่ตรงจุด โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ดี และนโยบายในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่สอดคล้อง
สุดท้ายนี้ สำหรับผมแล้วการเผยแพร่ไอเดียและมุมมองด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในอนาคตจากเหล่าผู้นำระดับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศของเรามุ่งไปทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะสามาถสร้างอิทธิพลและกำหนดทิศทางของโลกได้ แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถมุ่งไปในทางที่ถูกต้อง ด้วยอัตราเร็วที่มากพอ สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือคลื่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้ได้
ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
Kommentare